กลุ่มชาวไทยพุทธยะลา ยืนหนังสือถึง รมว.ยุติธรรม ไม่เห็นด้วยยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

 

กลุ่มชาวไทยพุทธยะลา ยืนหนังสือถึง รมว.ยุติธรรม ไม่เห็นด้วยยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

วันที่ 8 ต.ค.2566 เวลา 16.00 น. ที่ศาลากลางจังหวัดยะลา อ.เมือง จ.ยะลา กลุ่มไทยพุทธ นำโดย นายหิรัญย์เศรษฐ์  แสงเทียน ประธานสมาพันธ์ไทยพุทธจังหวัดยะลา และชาวไทยพุทธกว่า 100 คน ได้เดินทางมายืนหนังสือต่อ นายอำพล พงศ์สุวรรณ  ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เพื่อส่งต่อไปยังรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม โดยในใจความหนังสือดังกล่าวมีดังนี้


เรียนท่านรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม  ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ตามที่สภาเครือข่ายปัญญาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกแถลงการณ์ลงวันที่ 6 ต.ค.2566 ขอให้รัฐบาลยุติการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) พ.ศ.2548 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั้น
กลุ่มชาวไทยพุทธตามที่ปรากฏรายชื่อในท้ายจดหมายฉบับนี้ เห็นว่าการเรียกร้องของสภาเครือข่ายฯ ดังกล่าว พิจารณาเพียงแค่การบั่นทอนเสรีภาพ และไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนเท่านั้น แต่สภาเครือข่ายฯ ไม่เคยถามชาวพุทธที่เป็นคนกลุ่มเล็กๆ ในพื้นที่เลยว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยต่อความพยายามยกเลิก พ.ร.ก.นั้น หรือไม่ อย่างไร และเรายังมองไม่เห็นว่าการยกเลิก พ.ร.ก.ดังกล่าว จะช่วยให้เรามีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้นอย่างไร เรายังคงเห็นการถูกข่มขู่ไม่ให้ชาวพุทธเข้าบางพื้นที่ เรายังเห็นการลอบทำร้ายประชาชนชาวพุทธมากขึ้นในระยะหลายเดือนที่ผ่านมา เรายังคงถูกองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ละเลย เพิกเฉยต่อโศกนาฏกรรมที่ชาวพุทธได้รับจากกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงตลอดมา
การเรียกร้องของสภาเครือข่ายฯ จึงถือเป็นการปิดบังเสียงจากกลุ่มเล็กๆ ที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน 

 

ซึ่งเราอยากตั้งคำถามว่า หากเกิดเหตุชาวพุทธถูกลอบทำร้ายจากกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง สวนยาง สวนผลไม้ถูกฟัน ทำลาย สภาเครือข่ายฯ จะออกมารับผิดชอบหรือไม่ หรือ จะมี สส.ในพื้นที่คนใดยืดอกยกมือเป็นผู้รับผิดชอบต่อการกระทำนี้บ้าง สถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี บีบคั้นให้ชาวพุทธต้องทิ้งถิ่นฐานบ้านเรือนของตนออกนอกพื้นที่มาโดยตลอด เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของตนและครอบครัว จนสัดส่วนการเหลืออยู่ของชาวพุทธในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลงเรื่อยๆ  อย่างไรก็ตาม ครอบครัวชาวพุทธที่ยังคงอยู่ในพื้นที่ ก็ยังมีความหวังถึงความปลอดภัยด้วยกฎหมายพิเศษที่ทางการนำมาใช้ในพื้นที่  การเรียกร้องขอยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของสภาเครือข่ายฯ จึงเสมือนการละเลย ไม่อินังขังขอบ ต่อความปลอดภัยของชาวพุทธ และคำนึงถึงแต่ประโยชน์ของตนเองเป็นที่ตั้ง ซึ่งแม้แต่ สส.ในพื้นที่ ที่อ้างตนว่าเป็นผู้แทนของประชาชน และจะดูแลสารทุกข์สุขดิบของประชาชน ก็ดูเหมือนจะเพิกเฉยต่อความเป็นอยู่และความปลอดภัยของชาวพุทธ ยิ่งไปกว่านั้นยังออกมาแสดงตนสนับสนุนการยกเลิก พ.ร.ก.ดังกล่าวอย่างชัดเจน


กลุ่มชาวพุทธจึงใคร่ขอให้มีการทบทวน พิจารณา มาตรการปกป้อง คุ้มครอง หรือเงื่อนไขการตั้งรับ ออกเป็นคำสั่งจังหวัดหรือ คงไว้ซึ่งมาตรการบางส่วน ให้พอเชื่อได้ว่า เราชาวพุทธจะปลอดภัยต่อการใช้ชีวิตในการทำมาหากินยามปกติ ตลอดจนการเดินทางเข้าออกในชุมชนพื้นที่รอบนอกเมือง ในทุกพื้นที่ในจังหวัดยะลาหรือใกล้เคียง ทั้งนี้ ด้วยความหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา จะได้โปรดพิจารณาและนำเสนอต่อรัฐมนตรี อย่างเร่งด่วน


ลงชื่อ กลุ่มชาวไทยพุทธบ้านสันติ 1-2  ต.บ้านแหร อ.ธารโต จ.ยะล กลุ่มชาวไทยพุทธ ต.หน้าถ้ำ อ.เมือง จ.ยะลา กลุ่มชาวไทยพุทธรักในหลวงจังหวัดยะล  หลังจากได้ยืนหนังสือ ทางกลุ่มไทยพุทธได้ทยอยเดินกลับ โดยไม่มีเหตุการณ์ใดๆเกิดขึ้น

ความคิดเห็น