รำลึก 116 ปี ชาตกาล หลวงพ่อจ่าง อดีตเจ้าอาวาสวัดเขื่อนเพชร จ.เพชรบุรี
น้อมรำลึก 116 ปี ชาตกาล หลวงพ่อจ่าง อเชยโย อดีตเจ้าอาวาสวัดเขื่อนเพชร จ.เพชรบุรี
วันศุกร์ที่ 12 ก.ค.2567 น้อมรำลึกครบรอบ 116 ปี ชาตกาล “พระครูสุนทรวชิรเวช” หรือ “หลวงพ่อจ่าง อเชยโย” อดีตเจ้าอาวาสวัดเขื่อนเพชร (โค้งข่อย) ต.ท่าคอย อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี เป็นพระเกจิอาจารย์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบรูปหนึ่ง
มีความชำนาญด้านการรักษาโรคกระดูก และเป็นเกจิเจ้าตำรับเครื่องรางตะกรุดคำหมาก
เกิดในตระกูลเปี่ยมศรี เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 ก.ค.2451 เวลาประมาณ 6 โมงเช้า ที่บ้านท่าคอย อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี เป็นบุตรคนที่สองในจำนวนพี่น้อง 4 คน บิดา-มารดาชื่อ นายหล่ำ และนางส่วน เปี่ยมศรี
วัยเด็กเล่าเรียนหนังสือพออ่านออกเขียนได้ มีอุปนิสัยสุภาพอ่อนโยน ไม่ชอบทำบาปช่วยทางบ้านประกอบสัมมาชีพเป็นกำลังสำคัญ จนอายุ 20 ปีเข้าพิธีอุปสมบทที่วัดท่าคอย โดยมีเจ้าอธิการฉิม วัดท่าคอย เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงพ่อโต๊ะ วัดท่อเจริญธรรม และหลวงพ่อหอม วัดท่ามะเกลือ เป็นคู่สวด ได้รับฉายาว่า “อเชยโย”
เล่าเรียนอักขระภาษาไทย ภาษาขอม ตลอดทั้งพระปริยัติธรรมท่องบทสวดมนต์อันได้แก่ มูลกัจจายนะ เจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน ปาติโมกข์สัททสังคหสูตรตามสมัยนิยมจนจบ และวิชาแพทย์แผนโบราณจนเชี่ยวชาญ
ตลอดจนศึกษาวิทยาคมต่างๆ จากเจ้าอธิการฉิม วัดท่าคอย ซึ่งเป็นพระเกจิอาจารย์เลื่องชื่อรูปหนึ่งของ จ.เพชรบุรี
พรรษาที่ 3 เริ่มออกธุดงค์เพื่อบำเพ็ญเพียรและฝึกสมาธิให้กล้าแข็ง โดยท่องไปยังสถานที่สำคัญ เช่น จ.กาญจนบุรี ตาก และข้ามไปยังประเทศพม่า ก่อนกลับเข้ามาทางจ.เชียงราย เชียงใหม่
เดินทางไปกราบสักการะพระธาตุดอยสุเทพ และพระพุทธบาทสี่รอย (พระบาทรังรุ้ง) ถึง 2 ครั้ง
ระหว่างธุดงค์ยังศึกษาและแลกเปลี่ยนวิชากับพระอาจารย์ชื่อดังหลายรูป และเมื่อกลับมาวัดท่าคอยได้ศึกษาวิชาเพิ่มเติมจากพระคณาจารย์ชื่อดังในยุคนั้น อาทิ เจ้าอธิการฉิม ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงปู่ทองสุข วัดโตนดหลวง, หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง, หลวงพ่อผิน วัดโพธิ์กรุ, หลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ, หลวงพ่อโต๊ะ วัดท่อเจริญธรรม, หลวงพ่อเจิม วัดกุฎีทอง ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังมีอาจารย์ที่เป็นฆราวาส ผู้เชี่ยวชาญในสรรพวิชาอีกหลายท่าน
พ.ศ.2495 ขณะมีอายุ 45 ปี พรรษา 25 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดเขื่อนเพชร ซึ่งในขณะนั้นยังใช้ชื่อว่า “วัดโค้งข่อย”
ต่อมามีการสร้างเขื่อนเพชรบุรีเพื่อกันน้ำบริเวณเหนือวัด จึงเปลี่ยนชื่อเป็นวัดเขื่อนเพชร จนถึงปัจจุบัน
สมัยก่อนสภาพวัดเขื่อนเพชรชำรุดทรุดโทรม จึงใช้เงินจากมรดกส่วนตัวเป็นทุนบูรณะพัฒนาสิ่งก่อสร้าง ศาสนสถาน ทั้งด้านการซ่อมแซมของเก่า และสร้างถาวรวัตถุเพิ่มเติม อาทิ อุโบสถ กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ และเมรุ
ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลท่าคอย และเจ้าคณะอำเภอท่ายางตามลำดับ และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ “พระครูสุนทรวชิรเวช”
เป็นพระที่มีอัธยาศัยไมตรี เปี่ยมไปด้วยความเมตตา และบำเพ็ญทานบารมีเป็นที่ตั้ง อีกทั้งเคร่งครัดในพระธรรมวินัย งดงามในศีลาจารวัตร สิ่งที่โดดเด่นของท่านคือ ความรู้ความเชี่ยวชาญวิชาแพทย์แผนโบราณ โดยเฉพาะการรักษาโรคกระดูกแตก กระดูกหัก
เมื่อครั้ง อ.ท่ายาง ยังไม่มีโรงพยาบาลประจำอำเภอ วัดเขื่อนเพชรเป็นศูนย์รวมของผู้ป่วยทุกชนิดตั้งแต่โรคทางกายและผู้ที่ถูกคุณไสยเข้าสิงมารับการรักษา เป็นหมอใหญ่ช่วยเยียวยาชีวิตผู้คนไว้มากมาย สงเคราะห์อย่างเสมอภาคกับผู้ป่วยทุกคน ไม่เรียกร้องเงินทอง แถมยังจัดหาที่พักและอาหารให้ทุกมื้อ
วิชาที่เลื่องลือคือ “วิชาสมานกระดูก” เพราะเก่งมากในเรื่องกระดูก กระดูกหักมาให้ท่านรักษาด้วยการใช้น้ำมนต์ทา เข้าเฝือกให้ ปัดด้วยมนต์คาถา ทำให้กระดูกที่แตกหักประสานติดกัน
เส้นยืด เส้นตึง อัมพฤกษ์ ท่านรักษาได้หายขาด
เป็นแพทย์แผนโบราณ ใช้สมุนไพรไทยกับวิทยาคมรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้กับญาติโยมทั่วไป นอกจากนี้ ยังเชี่ยวชาญในพิธีสวดบังสุกุลเป็น บังสุกุลตาย ขับไล่สิ่งไม่ดี เสริมดวงชะตาเพื่อความเป็นสิริมงคลแห่งโชคลาภแก่ชีวิตครอบครัว ที่ได้รับความศรัทธาจากลูกศิษย์ลูกหาเป็นอย่างมาก
มรณภาพอย่างสงบด้วยโรคหัวใจล้มเหลว ที่โรงพยาบาลราชบุรี เมื่อวันที่ 3 ม.ค.2545
สิริอายุ 94 ปี พรรษา 74
—-
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น