รำลึก 77 ปี มรณกาล หลวงพ่อพริ้ง อินทโชติ วัดบางปะกอก กรุงเทพฯ

รำลึก 77 ปี มรณกาล หลวงพ่อพริ้ง อินทโชติ วัดบางปะกอก กรุงเทพฯ


 


วันเสาร์ที่ 17 ส.ค.2567 น้อมรำลึกครบรอบ 77 ปี มรณกาล “พระครูประศาสน์สิกขกิจ” หรือ “หลวงพ่อพริ้ง อินทโชติ” วัดบางปะกอก เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพฯ พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง

วัตถุมงคลสร้างไว้มีมากมายหลายรุ่น เช่น พระพิมพ์สมเด็จเนื้อผง 30 พิมพ์ ลูกอม ฯลฯ ล้วนแต่โดดเด่นดังด้านเมตตามหานิยม

นามเดิมชื่อ พริ้ง เอี่ยมทศ เกิดเมื่อ พ.ศ.2413 ชาติภูมิเป็นชาวคลองสาน ฝั่งธนบุรี บรรพชาตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ที่วัดราชสิทธาราม ศึกษาพระธรรมวินัยและฝึกฝนวิปัสสนากัมมัฏฐานกับพระมงคลเทพมุนี

อุปสมบทที่วัดทองนพคุณ ศึกษาเล่าเรียนทั้งภาษาไทยและบาลีจนแตกฉาน ประกอบกับเป็นผู้ที่มีความสนใจทางด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน จึงฝึกฝนทางด้านนี้อย่างจริงจัง รวมทั้งเรียนด้านวิทยาคมเพิ่มเติมอีกกับคณาจารย์ต่างๆ หลายสำนัก

สนใจศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐานและวิทยาคมมาตั้งแต่สมัยยังเป็นสามเณร สำนักใดมีชื่อเสียงในขณะนั้น ก็จะไปศึกษาและออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ เมื่อพบกับพระเกจิอาจารย์ดัง ก็จะฝากตัวเป็นศิษย์แล้วออกธุดงค์ตามไปเรื่อยๆ

ความมานะพากเพียรและจิตที่มุ่งมั่น ทำให้มีชื่อเสียงด้านวิทยาคม และวิชาแพทย์แผนโบราณ เพื่อนำมาสงเคราะห์ต่อชาวบ้านในสมัยนั้นอีกด้วย

ต่อมา รับนิมนต์ให้มาอยู่ที่วัดบางปะกอก พ.ศ.2438 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส พ.ศ.2470 เป็นพระอุปัชฌาย์

สมัยที่เกิดสงครามอินโดจีนและสงครามโลกครั้งที่ 2 (ระหว่าง พ.ศ.2480-85) วัดบางปะกอก เป็นอีกวัดหนึ่งที่ประชาชนทั่วไป มาขอพึ่งพาเป็นที่หลบภัย ทั้งที่วัดอยู่ไม่ไกลจากอู่ต่อเรือของทหารญี่ปุ่นที่เข้ามาสร้างฐานทัพในประเทศไทย

ช่วงนั้นฝ่ายพันธมิตร นำเครื่องบินทิ้งระเบิดเพื่อทำลายฐานที่มั่นของทหารญี่ปุ่นมากมายหลายสิบลูก แต่ไม่มีระเบิดแม้แต่ลูกเดียวที่จะลงถึงวัดบางปะกอกเลย

เชื่อกันว่าหลวงพ่อพริ้ง ประกอบพิธีขจัดปัดเป่า จึงทำให้บริเวณวัดบางปะกอกและใกล้เคียงรอดพ้นจากลูกหลง

ด้วยเหตุนี้ชื่อเสียงจึงโด่งดัง เป็นผลให้ประชาชนทั่วสารทิศทั้งใกล้-ไกล ต่างมุ่งไปขอวัตถุมงคล รวมทั้งขอให้ช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ด้วย

มักได้รับนิมนต์ให้เข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษกใหญ่ๆ ด้วยทุกครั้ง มีอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อสมเด็จพระสังฆราช (แพ) นิมนต์ไปร่วมประกอบพิธีหล่อและพุทธาภิเษก “พระกริ่งสมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศน์” ซึ่งมีพระคณาจารย์ชื่อดังหลายสิบรูปมาร่วมพิธีครั้งนี้ ปรากฏว่าแผ่นยันต์ที่หลวงพ่อพริ้งจารอักขระ และนำไปใส่ในเบ้าหลอมรวมกับของคณาจารย์รูปอื่นๆ ไม่ยอมหลอมละลาย

จึงต้องนิมนต์มาท่องมนต์กำกับแผ่นจาร จึงละลายอย่างงายดายในเวลาต่อมา เกิดเป็นปรากฏการณ์อัศจรรย์ให้เล่าขานมาถึงทุกวันนี้

ไม่ว่าจะมีพิธีสำคัญที่ใดก็ตามจะต้องมีการนิมนต์หลวงพ่อพริ้งอยู่ด้วยเสมอ เช่น พิธีพุทธาภิเษกเหรียญหลวงพ่อมงคลบพิตร พ.ศ.2485 หรืองานหล่อพระรูปของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ณ วัดราชบพิธฯ ก็ได้รับนิมนต์ด้วย

เกียรติคุณยิ่งได้รับความเชื่อถือมากขึ้นอีก เมื่อพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ มาขอเป็นศิษย์

สมณศักดิ์สุดท้าย ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษ ในราชทินนามที่ พระครูประศาสน์สิกขกิจ ในปี พ.ศ.2479

มรณภาพอย่างสงบ วันที่ 17 ส.ค.2490 ในวันมรณภาพ ท่านให้ลูกศิษย์ประคองลุกขึ้นนั่งแล้วประสานมือในท่าสมาธิ ครู่เดียวก็สิ้นลมอย่างสงบ สิริอายุ 78 ปี


ความคิดเห็น