รำลึก 124 ปีชาตกาล หลวงปู่สาม อกิญจโน วัดป่าไตรวิเวก อ.เมือง จ.สุรินทร์

รำลึก 124 ปีชาตกาล หลวงปู่สาม อกิญจโน วัดป่าไตรวิเวก อ.เมือง จ.สุรินทร์ 

 


 

 

วันพฤหัสฯ ที่ 12 ก.ย.2567 น้อมรำลึกครบรอบ 124 ปีชาตกาล หลวงปู่สาม อกิญจโน วัดป่าไตรวิเวก อ.เมือง จ.สุรินทร์ พระสายป่าแห่งกองทัพธรรม หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต บูรพาจารย์สายพระป่า ล้วนเป็นที่เคารพศรัทธายิ่ง

หลวงปู่สามได้คำชื่นชมจากท่านอาจารย์ใหญ่ว่า “เป็นผู้เจริญด้วยธุดงควัตร จำพรรษาได้มากแห่งและเป็นผู้เคร่งครัดในธุดงค์”

เกิดเมื่อวันที่ 12 ก.ย.2443 ที่บ้านนาสาม ต.นาบัว อ.เมือง จ.สุรินทร์

ในช่วงวัยเยาว์ต้องทำงานทุกอย่างทั้งนอกบ้านและในบ้าน ย่างสู่วัยหนุ่มสนใจใฝ่ทำบุญบริจาคทาน ฟังเทศน์ฟังธรรม มีอัธยาศัยชอบความสงบ

อายุ 19 ปี บรรพชาที่วัดนาสาม ศึกษาพระปริยัติธรรม จนอายุ 21 ปี อุปสมบทในปี พ.ศ.2462 มีพระครูวิมลศีลพรต เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อเอี่ยมเป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์สามเป็นพระอนุสาวนาจารย์

จำพรรษาที่วัดนาสาม 3 พรรษาก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม โดยขอพำนักอยู่ที่วัดสัมพันธวงศ์ (วัดเกาะ) แต่ที่วัดนี้ไม่มีกุฏิให้พำนักจึงไปจำพรรษา ณ วัดใน จ.พระนครศรี อยุธยา อยู่หนึ่งพรรษา

หลังออกพรรษาเห็นว่าไม่มีโอกาสได้เรียนพระปริยัติธรรมจึงกลับมาที่วัดนาสามตามเดิม และเปลี่ยนความคิดจากการศึกษาพระปริยัติธรรมมาเป็นการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน

เริ่มต้นด้วยการถวายตัวเป็นศิษย์หลวงปู่ดูลย์ อตุโล รับการแนะนำสั่งสอนเรื่องการนั่งสมาธิภาวนา บำเพ็ญเพียรด้วยความตั้งใจจริง เพียงไม่นานก็สามารถอบรมจิตให้มั่นคงอยู่ในสมถะ มีสมาธิ

พิจารณาตนเองเห็นว่ายังไม่เข้าใจในธรรมละเอียดถี่ถ้วน จึงเริ่มทดลองออกเที่ยวธุดงค์ไปในบริเวณใกล้ จ.สุรินทร์ โดยปักกลดครั้งแรกอยู่ที่เขาสวาย ต้องผจญกับความยากลำบากเรื่องอาหารเพราะชาวบ้านเห็นพระธุดงค์เป็นของแปลกไม่มีใครใส่บาตร

แต่ด้วยเป็นผู้มีจิตใจอ่อนโยน และมีเมตตากรุณา ในไม่ช้าบรรดาชาวบ้านต่างคุ้นเคย จนมีผู้มาขอปฏิบัติกับท่านหลายคน

ก่อนเดินทางไปปฏิบัติกัมมัฏฐานกับหลวงปู่มั่น ที่เสนาสนะป่าบ้านสามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม

อยู่ปรนนิบัติรับใช้หลวงปู่มั่นอย่างใกล้ชิด จนเป็นศิษย์ที่วางใจ โดยอนุญาตให้เป็นผู้จัดวางเครื่องอัฐบริขาร

ต่อมาเดินทางไปกราบนมัสการพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม และร่วมธุดงค์ออกแนะนำสั่งสอนญาติโยม โดยเข้าอุปสมบทแปรญัตติใหม่เป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุต ที่วัดสร้างโศก อ.ยโสธร จ.อุบลราชธานี มีพระครูจิตตวิโสธราจารย์เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์สิงห์เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ออกธุดงค์ในหลายจังหวัด ทั้งอุบลราชธานี, บุรีรัมย์, หนองคาย, ขอนแก่น, นครราชสีมา เรื่อยมาจนถึงภาคกลางและชายฝั่งทะเลตะวันออก ก่อนล่องสู่ภาคใต้และขึ้นเหนือ ชนิดไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

เกือบทุกแห่งที่ท่านหยุดปักกลดจะมีญาติโยมเลื่อมใสในปฏิปทา ขอให้สอนการนั่งสมาธิภาวนา

ต่อมาเดินทางกลับมาตุภูมิ ด้วยจะได้มีโอกาสใกล้ชิดครูบาอาจารย์ซึ่งชราภาพ คือหลวงปู่ดูลย์ อตุโล รวมทั้งมีโอกาสแนะนำสั่งสอนธรรมปฏิบัติแก่ญาติโยม พุทธศาสนิกชนในบ้านเกิด

พ.ศ.2510 ยุติการธุดงค์เดินทางกลับบ้านเกิด มีญาติโยมผู้มีจิตศรัทธาซื้อที่ดินสร้างเป็นวัดเล็กๆ ถวาย และเมื่อมีคนเคารพเลื่อมใสเพิ่มมากขึ้นต่างพากันสละทุนทรัพย์ขยายวัดจนสมบูรณ์แบบ ตั้งชื่อว่า “วัดป่าไตรวิเวก”

ครองวัดอยู่นาน 22 ปี ก่อนมรณภาพวันที่ 2 ก.พ.2534 สิริอายุ 91 ปี พรรษา 71

ปัจจุบันยังเป็นพระเถระที่ชาวเมืองสุรินทร์ให้ความเลื่อมใส

——


ความคิดเห็น