รำลึกครบรอบ 30 ปี มรณกาล สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สุวรรณ สุวัณณโชโต)

รำลึกครบรอบ 30 ปี มรณกาล สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สุวรรณ สุวัณณโชโต) อดีตเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

 


 


วันอาทิตย์ที่ 22 ก.ย.2567 น้อมรำลึกครบรอบ 30 ปี มรณกาล สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สุวรรณ สุวัณณโชโต) อดีตเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม สมณะผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตนเป็นตัวอย่าง ด้วยมีวัตรปฏิบัติอันน่ายกย่องและศรัทธายิ่งของบรรดาศิษยานุศิษย์ ตลอดจนพุทธศาสนิกชนทั่วไปยิ่ง

ด้วยการบำเพ็ญประโยชน์ในฐานะพุทธบุตรช่วยเหลือญาติสายโลหิต และช่วยเหลือพุทธศาสนิกชนโดยเฉพาะชาวเหนือและชาวเขาไม่มีที่สิ้นสุด

ชาติภูมิ เกิดในสกุลเขื่อนเพ็ชร เมื่อวันเสาร์ที่ 5 มิ.ย.2463 ตรงกับวันแรม 4 ค่ำ เดือน 7 ปีวอก ที่บ้านนางแล ต.นางแล อ.เมืองเชียงราย เป็นบุตรโยมพ่อจี วงศ์เรืองศรี โยมแม่ขันแก้ว เวียงมูล

ศึกษาจบประถมศึกษาปีที่ 4 ณ โรงเรียนประชาบาลวัดนางแล

บรรพชาเมื่อวันที่ 15 ก.ค.2477 ณ วัดนางแล โดยมีพระครูสุตาลังการ วัดกลางเวียง เป็นพระอุปัชฌาย์

อุปสมบทเมื่อวันที่ 27 พ.ค.2483 ณ วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตติโสภโณ) ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระพรหมมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า สุวัณณโชโต

ภายหลังอุปสมบท มุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรม สามารถสอบได้เปรียญธรรม 7 ประโยค ณ สำนักเรียนวัดเบญจมบพิตร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ได้ถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสังคมศาสตร์

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ นอกจากดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรแล้ว ยังดำรงตำแหน่งทางการปกครองบริหารและสังคมอีกหลายตำแหน่ง อาทิ เป็นเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ กรรมการมหาเถรสมาคม ตั้งแต่เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม เป็นแม่กองบาลีสนามหลวงต่อจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินธโร) วัดสามพระยา

ในทางสังคมท่านเป็นประธานมูลนิธิแผ่นดินธรรม ซึ่งผลิตราชการทางศาสนาออกอากาศแพร่ภาพทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เป็นประธานคณะพระธรรมจาริก ทำหน้าที่ช่วยเหลือชาวเขาทั้งในด้านการศึกษา การศาสนา การอาชีพ การสุขภาพอนามัย และการสาธารณูปโภค


ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2489 พระครูฐานานุกรมในพระพรหมมุนี (ปลด กิตติโสภโณ) ที่ พระครูปลัดสุวัฒนพรหมจริยคุณ พ.ศ.2490 เป็นพระครูฐานานุกรมในสมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตติโสภโณ) ที่ พระครูปลัดสัมพิพัฒนสุตาจารย์

พ.ศ.2493 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระกิตติวงศ์มุนี พ.ศ.2501 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพกิตติมุนี พ.ศ.2505 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมกิตติโสภณ

พ.ศ.2516 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นรองสมเด็จพระราชาคณะที่ พระพุทธิวงศมุนี

พ.ศ.2532 ทรงพระกรุณาโปรดฯสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์

โดยเฉพาะงานพระธรรมจาริกนั้น ท่านทุ่มเทอย่างสุดกำลัง ทำมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2508 จนกระทั่งสิ้นอายุขัย ทั้งลงมือทำเองและชักชวนผู้อื่นด้วยสถานการณ์วิกฤต ชาวเขาและชนกลุ่มน้อยเกิดสงครามเล็กในการแย่งชิงประชาชน รัฐบาลต้องขบคิดหนักและหาวิธีการแก้ไขเพื่อดึงชาวเขาซึ่งมีว่า 5 แสนคนตามตะเข็บชายแดนให้เป็นชาวเรา ด้วยการส่งพระธรรมจาริกเข้าไปบุกเบิก ทั้งสอน แนะนำ เป็นครู คลุกคลีทำงานร่วมกับชาวเขาจนก่อเกิดศรัทธาอันมั่นคงในพุทธศาสนา ทำชาวเขาให้เป็นชาวเรา แก้ปัญหาชนกลุ่มน้อยให้ประเทศชาติได้ ทั้งยังเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศชาติได้ด้วย

นอกจากนี้ยังเป็นประธานกรรมการที่ปรึกษามูลนิธิเผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่ชนถิ่นกันดาร เป็นประธานอนุกรรมการวัฒนธรรมทางจิตใจ กระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานคณะกรรมการดำเนินการตามโครงการพระราชดำริจัดสร้างโรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจน และผู้อำนวยการศูนย์พุทธศาสนานานาชาติ

ในส่วนที่เกี่ยวกับพระมหาเถระระดับสูงนั้น ท่านได้รับความเมตตาและไว้วางใจในหลายกรณี จากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวัฑฒโน) และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินธโร) ในชีวิตของท่านทุ่มเทให้กับงานสังคมสงเคราะห์ตลอด ไม่ถือตัว เป็นกันเองกับทุกคนแม้แต่คนงานวัดซึ่งมีฐานะยากจน ท่านให้ความเมตตาช่วยเหลือด้วยความเต็มใจ

จึงเป็นพระมหาเถระที่เสียสละ พระผู้ให้แก่สังคมอย่างหาที่สุดมิได้ เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าและสำคัญยิ่งของศาสนา เป็นพระผู้ให้จวบจนวาระสุดท้ายแห่งชีวิต

เจ้าประคุณสมเด็จฯ มรณภาพมื่อวันที่ 22 ก.ย.2537 เวลา 11.40 น. ขณะมีอายุ 74 ปีเศษ ณ โรงพยาบาลศิริราช

—-

ความคิดเห็น