รำลึก 96 ปี มรณกาล หลวงพ่อผ่อง ธัมมโชติโก วัดคูหาสวรรค์ หรือ วัดศาลาสี่หน้า กรุงเทพฯ

น้อมรำลึกครบรอบ 96 ปี มรณกาล หลวงพ่อผ่อง ธัมมโชติโก




วันเสาร์ที่ 30 พ.ย.2567 น้อมรำลึกครบรอบ 96 ปี มรณกาล “พระวิสุทธิสารเถร” หรือ “หลวงพ่อผ่อง ธัมมโชติโก” แห่งวัด “คูหาสวรรค์” หรือ “วัดศาลาสี่หน้า” แขวงคูหาสวรรค์ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ

สุดยอดพระเกจิอาจารย์ยุคเก่าย่านฝั่งธนบุรีอีกรูปหนึ่ง และเป็นสหธรรมิกที่สนิทชิดเชื้อกับหลวงปู่ชู วัดนาคปรก

ทั้งหลวงพ่อผ่อง และหลวงปู่ชู เป็นศิษย์สืบทอดพุทธาคมจาก “หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง”


สำหรับวัดคูหาสวรรค์ในอดีตเป็นสำนักปฏิบัติกัมมัฏฐาน โดยมีหลวงพ่อผ่อง อดีตเจ้าอาวาสที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ และเป็นเจ้าตำรับวัตถุมงคลดัง “พระสมเด็จเล็บมือ”


มีนามเดิมว่า “ผ่อง” เป็นบุตรของนายสุด นางอ่ำ เกิดเมื่อปี พ.ศ.2414 ต้นรัชกาลที่ 5 ที่บ้านตำบลบางสีทอง อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี เมื่อปีพ.ศ.2435 อุปสมบทที่วัดรวกบางสีทอง จังหวัดนนทบุรี มีพระปรีชาเฉลิม (แก้ว สงขสุวณโณ) ป.ธ.6 (ภายหลังเลื่อนเป็นพระเทพโมลี เจ้าอาวาสวัดมหรรณพาราม) วัดเฉลิมพระเกียรติ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการแก้ว วัดไฟไหม้ (วัดอมฤต) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการลบ วัดรวก เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายา “ธัมมโชติโก”


เรียนวิปัสสนาธุระในสำนักอาจารย์แก้ว วัดไฟไหม้ รวม 3 พรรษา ในพรรษาที่ 4 ย้ายมาอยู่ที่วัดนางชี คลองด่าน ในสมัยพระครูศีลขันธ์สุนทรเป็นเจ้าอาวาส ในพรรษาที่ 11 ย้ายจากวัดนางชีมาอยู่วัดนาคปรก อีก 10 พรรษา จนถึงปีพ.ศ.2455


เมื่อวันที่ 14 ก.ค.2455 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ปีชวด เจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (เผื่อน) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (ในขณะที่ดำรงสมณศักดิ์ที่พระศากยบุตติยวงศ์) กับพระพุทธพยากรณ์ วัดอัปสรสวรรค์ (ในขณะที่ดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูพุทธพยากรณ์) ได้อาราธนาให้เป็นเจ้าอาวาสวัดคูหาสวรรค์วรวิหาร ในขณะที่เป็นพระปลัดฐานานุกรมอยู่


เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2458 เป็นพระครูสัญญาบัตร ที่ “พระครูสังวรสมาธิวัตร” เนื่องในงานพระราชพิธีฉัตรมงคล ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ต้นรัชกาลที่ 6 ในขณะที่มีอายุได้ 44 ปี


เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2464 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ และเป็นเจ้าคณะหมวดคลองบางจาก อำเภอภาษีเจริญ


เมื่อวันที่ 24 ก.ย.2464 ได้รับเลื่อนเป็นพระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ “พระวิสุทธิสารเถร” ถือพัดงาสาน


กล่าวได้ว่า หลวงพ่อผ่องตั้งแต่แรกเข้ามาอุปสมบท มีอัธยาศัยเยือกเย็น มีอุปนิสัยอ่อนโยนสุภาพเรียบร้อย ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวผู้ใดได้พบเห็นท่านแล้วล้วนเกิดศรัทธาเลื่อมใส


นอกจากนี้ ยังเป็นผู้เอาใจใส่ในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามเป็นอย่างดี พอท่านเข้ามาอยู่วัดคูหาสวรรค์ ก็บูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุ เช่น อุโบสถ กุฏิสงฆ์ หอสวดมนต์ พระประธานในพระอุโบสถ และศาลาสี่หน้าที่ปรักหักพัง ให้คืนดีเกือบทั่วทั้งวัด ดังได้ปรากฏอยู่


อีกทั้งยังเป็น 1 ใน 3 พระเกจิอาจารย์ของฝั่งธนบุรี ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ให้ความเคารพนับถือ โดยเป็นพระเถระ 1 ใน 4 รูปที่ได้ “พัดงาสาน” สมัยรัชกาลที่ 5 ประกอบด้วย 1.หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง 2.พระสังวรานุวงศ์เถร (ชุ่ม) วัดราชสิทธิฯ (วัดพลับ) 3.หลวงพ่อผ่อง วัดคูหาสวรรค์ 4.หลวงปู่ปั้น วัดสะพานสูง


ได้ชื่อว่าเป็นพระสมถะ สันโดษ ไม่สะสมทรัพย์สินใด สมัยยังมีชีวิตอยู่ทุกๆ วันจะมีผู้คนมาท่านให้ช่วยรักษาโรคต่างๆ บางคนก็มาขอฝึกกรรมฐานและวิปัสสนา บางคนเป็นบ้าเสียสติมาให้ท่านอาบน้ำมนต์เพียงครั้งเดียวก็หาย ถึงขนาดร่ำลือกันว่าน้ำมนต์ของท่านศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก จะเป็นผีหรือเจ้าเข้าสิงก็ใช้ไล่ได้ดี หรือจะทางแคล้วคลาด เมตตามหานิยม อยู่ยงคงกระพันชาตรีก็เป็นยอด


วัตถุมงคลประเภทพระเครื่องและเครื่องรางของขลังที่สร้างแจกยุคแรก ส่วนใหญ่จะเป็นประเภท “ตะกรุดและผ้ายันต์” ซึ่งปัจจุบันหายากมาก


ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสได้ 16 ปี มีอาการอาพาธบ่อยครั้ง สุดท้ายได้มรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2471 สิริอายุ 57 ปี พรรษา 35


ความคิดเห็น